nidnoi

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

จากแพนด้าสู่การวิเคราะห์

หนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ 
สาระการเรียนรู้ภาษาไทย 
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
เล่มที่ ๕ หมีแพนด้า:นักฆ่ามาเป็นนักบุญ
นายรุ่ง    ใจมา   :  ผู้เขียน  
  
คำนำ
 การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันนี้   ครูควรสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา ได้แก่ การฟัง  การพูด  การอ่าน  และการเขียน  ซึ่งทักษะทั้งสี่ด้านนั้น ต้องอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น ดังนั้น ทักษะการคิดวิเคราะห์จึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทักษะการคิดวิเคราะห์มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้สาระต่างๆ รวมทั้งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงได้จัดทำหนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์เล่มนี้  ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยศึกษาเอกสารเรื่องหมีแพนด้าจากวารสารสารคดีและนิตยสารต่างๆ โดยใช้คลังคำที่กำหนดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์ไว้ด้วย  ผู้เขียน    หวังว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์เล่มนี้  จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่นักเรียนดีขึ้นเป็นลำดับไป
                                                                                นายรุ่ง   ใจมา


แพนด้า ที่คนไทยเริ่มรู้จักกันมากขึ้น เมื่อประเทศจีนส่งช่วงช่วงและหลินฮุ่ย มาจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๕๔๖- ๒๕๕๖) ด้วยอิทธิพลของสื่อทำให้หลายๆคนเชื่อว่า แพนด้าเป็นสัตว์ที่มีในประเทศจีนที่เดียวในโลก แต่แท้ที่จริงแล้วในประเทศไทย ,พม่าและเวียดนาม ต่างก็เคยมีแพนด้าป่าอาศัยอยู่ แต่นั่นเมื่อ ๑.๘ ล้านปีก่อน  ปัจจุบัน แพนด้าป่านอกประเทศจีนได้สูญพันธุ์แล้วทุกประเทศ
หลักฐานการพบฟอสซิลฟันกรามในประเทศไทย ที่ถ้ำแห่งหนึ่งใน       จ.แม่ฮ่องสอน และ ถ้ำวิมานดิน จ.ชัยภูมิ เป็นการพบจุดใต้สุดที่แพนด้าเคยอาศัยอยู่ ทั้งๆ ที่วิสัยของแพนด้าชอบอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ แสดงว่าเมื่อเกือบสองล้านปีก่อนภาคอีสาน ประเทศไทย มีป่าไผ่มากมายหลายชนิดและมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปัจจุบันนี้มาก เมื่ออุณหภูมิโลกอุ่นขึ้นแพนด้าจึงอพยพไปยังดินแดนทางเหนือที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่ประเทศไทย

  ช่วงช่วงและหลินฮุ่ย ไม่ใช่แพนด้าเลี้ยงคู่แรกที่มายลยินประเทศไทย   ก่อนหน้านี้ ดองดอง และหย่าชิง แพนด้าเพศผู้และเพศเมีย เคยถูกจัดสรรนำมาแสดงให้คนไทยชมถึง ๑๘๐ วัน ระหว่างปลายปี พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยจัดแสดงที่สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ รามอินทรา  กรุงเทพฯ เพียงแต่ครั้งนั้นมามาจัดแสดงเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของแพนด้าแต่อย่างใด แพนด้าที่เลี้ยงนอกประเทศจีนจะมีอายุเฉลี่ยเพียง ๑๔ ปี   ส่วนแพนด้าที่เลี้ยงในประเทศจีนจะมีอายุเฉลี่ยถึง ๓๐ ปี  เท่าที่มีการบันทึกไว้ แพนด้าตัวเมียในสวนสัตว์จี่หนาน  มณฑลชานตง ในจีน ชื่อ เทาเทา มีอายุยืนที่สุดในโลกคือ ๓๖ ปี

  แพนด้าเลี้ยงที่ประเทศจีนส่งไปเป็นเสมือนทูตแห่งความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไม่กี่ประเทศในโลก ประเทศเหล่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรีย  เยอรมัน  สเปน  ญี่ปุ่น   ไทย  ฮ่องกง  และไต้หวัน รวมทั้งหมด ๒๗  ตัว  หลินปิง เป็นตัวที่ ๒๘ ลูกแพนด้าที่เกิดนอกประเทศถือเป็นสมบัติของประเทศจีนและต้องส่งคืนภายใน ๒ ปี และทุกประเทศที่เลี้ยงแพนด้าต้องบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยแพนด้าจีน ปีละ ๘.๒๕ ล้านบาท ส่วนไทยจ่ายให้ในอัตรามิตรภาพเพียง สองล้านห้าแสนบาท หากแพนด้าที่เลี้ยงเกิดลูก ประเทศนั้นๆ ต้องบริจาคเงินอีกเข้ากองทุนวิจัยแพนด้าอีก ๔.๙๕ ล้านบาทต่อ ๑ ตัว และต้องจ่ายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน ๑๐ วัน หลังแพนด้าน้อยเกิด
  แพนด้าตามโครงสร้างร่างกายและระบบทางเดินอาหารจัดเป็นสัตว์กินเนื้อ ตระกูลเดียวกับหมี แต่เป็นหมีที่ไม่จำศีล ดังนั้นแพนด้าจึงเคยเป็นนักล่า นักฆ่ามาก่อนที่จะเป็นนักมังสวิรัติ คือกินพืช พืชที่ชอบกินคือไผ่ทุกชนิด  ไผ่เป็นพืชที่มีสารอาหารค่อนข้างน้อยจึงต้องกินปริมาณมากๆ อย่างน้อยตัวละ ๑๒-๑๕ กิโลกรัมต่อวัน  ใช้เวลากินไผ่นานวันละ ๑๔ ชั่วโมง จึงไม่มีเวลาจำศีลหน้าหนาวเหมือนหมีกินเนื้อทั่วไป
   แพนด้าป่ามีโอกาสสูญพันธุ์สูง เพราะมีโอกาสผสมพันธุ์ในช่วงไข่ตกเพียงประมาณปีละ ๓ วัน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  โดยตัวเมียจะส่งเสียงร้องและส่งกลิ่นจากโคนหางให้ตัวผู้รับรู้ หากมีตัวผู้อยู่ใกล้ก็จะรับรู้ถึงอาการและเข้ามาผสมพันธุ์กันใช้เวลาไม่เกิน ๑ นาที แล้วทั้งคู่ก็จะแยกกันอยู่  ปกติแพนด้าจะตกลูกครั้งละ ๒ ตัว แต่การเลี้ยงลูกในป่าเป็นภาระหนักมาก จึงพบว่าแม่แพนด้าจะเลี้ยงแพนด้าน้อยให้รอดได้เพียงตัวเดียว      การเกิดแพนด้าน้อยหลินปิงที่หลินฮุ่ยตกลูกเพียงตัวเดียวจึงเป็นเรื่องที่พิเศษกว่ากรณีอื่นๆ

 ลูกแพนด้าแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าแม่ถึง ๙๐๐ เท่า ผิวมีสีชมพู   ตาจะเปิดดูโลกเมื่ออายุ ๑ เดือน เป็นภาระที่แม่แพนด้าต้องเลี้ยงอย่างทะนุถนอมราวหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งยาวนานกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใดใด ยกเว้นมนุษย์ซึ่งบางคนต้องดูแลยาวนานชั่วชีวิตของพ่อแม่   แพนด้าในโลกนี้มีราว ๑.๖๐๐ ตัว อยู่ในกรงเลี้ยง ๒๓๙ ตัว องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงจัดแพนด้าไว้ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ศัตรูของแพนด้านอกจากโรคหัด     โรคลำไส้อักเสบและโรคที่ติดต่อผ่านอากาศต่างๆแล้ว ก็มีเสือดาวหิมะแล้ว    ก็มนุษย์ มนุษย์ล่าและฆ่าเพื่อเอาหนังแพนด้าไปขายซึ่งมีราคาถึงผืนละ ๑๐ ล้านบาท หากขายในประเทศญี่ปุ่น
 

  อาหารของแพนด้าป่าคือป่าไผ่ตามธรรมชาติ แพนด้ากินไผ่ได้ทั้งต้น กิ่ง และใบ ด้วยความที่ต้องกินใบไผ่มากๆ จึงมีอาณาบริเวณถึงสี่ถึงเจ็ดตารางกิโลเมตรต่อตัว  ทำให้แพนด้าในธรรมชาติไม่ค่อยพบเจอกันมากนัก โอกาสผสมพันธุ์ตามธรรมชาติจึงน้อยมาก  แพนด้าในสวนสัตว์นอกจากจะได้กินไผ่แล้ว ยังได้กินอาหารเสริมและผลไม้รวมทั้ง ฝึกให้กินอาหารประเภทขนมปังนึ่ง  ขนมปังอบ   แครอท  และแอบเปิ้ลด้วย
 

  แพนด้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ailuropoda  Melanoleuca ซึ่งแปลว่า สัตว์ที่มีตีนสีขาว ดำ เหมือนแมว คนจีนเรียกแพนด้าว่า Daxiong mao ออกเสียงว่า “โสวงมาว” หรือ “ต้าโสวงมาว” หมายถึงหมีแมวที่มีขนาดใหญ่  ตำนานเก่าแก่ของจีนเล่าว่า แพนด้าเมื่อหลายพันปีก่อน ตลอดตัวมี     สีขาวสีเดียว เหตุที่มีจุดดำตามตัวบางส่วนนั้นเป็นเพราะว่า เมื่อ ๒๐๐๐ ปีก่อน ในป่าลึกหมู่บ้านชาวเชียง เทือกเขาโฉลงไหล มณฑลเสฉวน ครอบครัวหนึ่งมีสี่สาวน้อยนำแพนด้ามาเลี้ยงไว้กับแกะ น้องสาวคนสุดท้องรักและเอ็นดูแพนด้าเป็นพิเศษกว่าพี่สาว วันหนึ่งขณะพาแกะไปเลี้ยงในทุ่งหญ้ากลางป่า นายพรานยิงธนูจะฆ่าแพนด้า น้องสุดท้องกระโดดรับลูกธนูแทนจนตายไป  พี่สาวทั้งสามเสียใจร้องไห้คร่ำครวญจนตรอมใจตายตาม  การเผาศพสี่สาวผู้รักแพนด้ามีแพนด้าทั่วเมืองจีนมาร่วมงาน แม้งานศพจะเสร็จสิ้นแล้ว แพนด้าน้อยยังคงโศกเศร้าเสียใจเข้าไปเกลือกกลั้วกับกองขี้เถ้าที่เผาศพจนเนื้อตัวแขนขาเปื้อนเป็นสีดำ เมื่อยกมือปาดน้ำตาขอบตาจึงเป็นสีดำ เมื่อยกมือปิดหูไม่อยากได้ยินเสียงร่ำไห้ของแพนด้าตัวอื่น หูก็เลยดำ ส่วนกองขี้เถ้าสี่กองได้กลายมาเป็นภูเขาสี่ยอดชื่อ ซื่อกูเหนียงซาน แปลว่า ยอดเขาสี่ดรุณี ทอดตัวยาวคอยปกป้องที่อยู่ของแพนด้ามาจนทุกวันนี้

  กระแสการนำเสนอข่าวแพนด้าน้อยที่แพร่กระจายหลากหลายสื่อ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างในประเทศไทย เช่น เกิดช้างแพนด้าที่เพนียดช้างอยุธยา จระเข้แพนด้าที่ฟาร์มจระเข้ สุพรรณบุรี แม้ว่าแพนด้าทั้งหลินปิง ลูกน้อย และพ่อแม่ช่วงช่วง หลินฮุ่ย ต้องจากผืนแผ่นดินไทยกลับสู่อ้อมกอดแผ่นดินเดิมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ก็หวังว่ากระแสการรักสัตว์และอนุรักษ์สัตว์ป่าจะยังคงอยู่ประจักษ์ชัดในสำนึกของคนไทยสืบไป เพราะในเมืองไทยถึงไม่มีแพนด้าแต่ยังมีสัตว์บ้านและสัตว์ป่าป่าน่ารักอีกหลายสิบชนิดที่ยังรอรับน้ำใจและความอบอุ่นจากคนไทยอยู่อย่างมีความหวังกว่าที่เป็นมา…
แบบทดสอบลองอ่านดูนะครับ...สำหรับ ป.6 นะครับ...



แบบทดสอบแพนด้า : จากนักฆ่ามาเป็นนักบุญ
1.ช่วงช่วงและหลินฮุ่ยจะจัดแสดงในสวนสัตว์เชียงใหม่เป็นเวลากี่ปี่
 ก. ๒ ปี      ข. ๖ ปี  ค. ๘ ปี  ง. ๑๐ ปี
2.ในภาคเหนือค้นพบซากฟอสซิลฟันกรามแพนด้าที่จังหวัดใด
 ก.เชียงใหม่ ข.แม่ฮ่องสอน  ค.ชัยภูมิ  ง.ลำปาง
3.เพราะเหตุใดแพนด้าจึงอพยพขึ้นไปทางดินแดนทางทิศเหนือ
 ก.เพราะป่าไผ่ทางเหนือมีมากกว่า
 ข.เพราะป่าไผ่ทางเหนืออร่อยกว่า
 ค.เพราะแพนด้าชอบอุณหภูมิสูง
 ง.เพราะแพนด้าชอบอุณหภูมิต่ำ
4.แพนด้าเพศผู้ที่นำมาให้ประชาชนคนไทยได้ชมในประเทศไทยเป็นตัวแรกคือข้อใด
 ก.ช่วงช่วง  ข.หลินฮุ่ย  ค.ดองดอง  ง.หย่าชิง
5.แพนด้าที่เลี้ยงนอกประเทศจีนมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าแพนด้าที่เลี้ยงในประเทศจีนกี่ปี
 ก.๑๔ ปี  ข.๑๖ ปี  ค.๓๐ ปี  ง.๓๖ ปี
6.ปัจจุบันนี้ประเทศในข้อใดไม่มีแพนด้าเลี้ยงในกรง
 ก.ฮ่องกง ข.มาเลเซีย ค.สเปน  ง.เยอรมัน
7.ทำไมแพนด้าซึ่งเป็นสัตว์ในตระกูลหมีชนิดหนึ่งจึงไม่จำศีล
 ก.เพราะอุณหภูมิโลกร้อนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแพนด้า
 ข.เพราะแพนด้าถูกเลี้ยงนอกประเทศจีน
 ค.เพราะแพนด้ากินเนื้อสัตว์
 ง.เพราะแพนด้ากินพืช
8.ทำไมแพนด้าจึงมีโอกาสสูญพันธุ์
 ก.บริเวณหากินไผ่กว้างเกินไป
 ข.มีช่วงเวลาผสมพันธุ์สั้นมาก
 ค.แพนด้าไม่ชอบเลี้ยงลูก
 ง.แพนด้ามีอายุขัยสั้นมาก
9.ส่วนใดของแพนด้าที่มนุษย์ต้องการมากเพราะมีราคาแพงที่สุด
 ก.หัว ข.ตัว ค.ขน ง.หนัง
10.นักเรียนคิดว่าคนไทยได้ประโยชน์จากแพนด้ามากที่สุดในข้อใด
 ก.แพนด้ามีผู้ชมมากช่วยให้สวนสัตว์ไม่ขาดทุน
 ข.แพนด้าปลูกกระแสรักสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงในคนไทยมากขึ้น
 ค.แพนด้าช่วยให้ไปรษณียบัตรขายดีขึ้น
 ง.แพนด้าช่วยให้คนไทยดูข่าวโทรทัศน์มากขึ้น
แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=505365

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น